โลโก้ต้องสื่อตัวตนได้โลโก้ต้องเป็นที่จดจำ โลโก้ต้องสื่อได้แม้ไม่ได้ใช้สีสันโลโก้ต้องสื่อได้แม้ขนาดเล็กๆ
การที่จะเริ่มทำธุรกิจฯ การที่จะเปิดทำการดำเนินกิจการอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการค้า เพื่อหน่วยงานราชการ เอกชน กระทรวง ทบวง กรม กอง องค์กรส่วนรวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้าน ฯลฯ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญลักษณ์ หรือ Logoประจำตัว เพื่อเป็นการสื่อ เตือนความทรงจำ และทำให้เกิดผลด้านการสื่อความหมายต่อสาธารณชนได้ง่ายขึ้น
สัญลักษณ์ หรือ Logo มาจากคำเต็ม Logotype หมายถึง สัญลักษณ์ เครื่องหมาย ตัวแทน หรือสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่บอกถึง ประเภท รูปแบบ หรือรูปลักษณะของสิ่งที่เป็นเจ้าของ สัญลักษณ์ หรือ Logo นั้นๆ ดุจดั่งเงา จริงๆ แล้วแทบจะไม่ต้องแปลความหมาย หรืออธิบายด้วยซ้ำ กับคำคำนี้เพราะว่า ถ้าได้ยินคำว่า Logo ผู้ที่ฟังก็จะเข้าใจได้เลย ไม่ต้องแปร หรืออธิบาย จะเข้าใจได้ดี ตีความหมาย ขยายความได้มากกว่า และกว้างมากกว่าคำที่ได้อธิบายไว้แต่ต้น เหมือนที่ทุกคนเข้าใจ และลึกซึ้งกับคำว่า " เงิน " พอเอ่ยคำคำนี้ทุกคนจะเข้าใจได้ดี ลึกซึ้ง และรู้ความหมายกับคำว่าเงินคือ อะไร แต่จะให้แปล และตีความนั้นค่อนข้างจะลำบาก
Logo เปรียบเหมือนหน้าตาของเจ้าของกิจการ และเจ้าของสินค้า ดุจดั่งเงา เช่น นายขาวเป็นคนดำ หน้าตาขี้เหร่ พูดจาเสียงดังไม่เข้าหูใคร ชอบช่วยเหลือเพื่อน กินเก่ง นอนกรนอ้าปาก ฯลฯ ถ้าจะถามว่า นายขาวมีอะไรในตัวที่ทำให้เพื่อนๆ จำได้ บางคนก็จะจำเอาความขี้เหร่ของนายขาว บางคนก็จะจำได้ในน้ำเสียงของเขาที่เป็นคนมีเสียงดังฟังชัด บางคนก็จะประทับใจการมีน้ำใจชอบช่วยเหลือผู้อื่น และบางคนก็จะจำเสียงกรนของเขา สิ่งเหล่านั้น คือ Logo ของนายดำที่มีต่อบุคคลต่างๆ เป็น Logo ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติของนายขาว หรือพ่อแม่ให้มาตามบุญตามกรรมซึ่งถือว่าเป็น Logo โดยกำเนิด
สำหรับสัญลักษณ์ หรือLogoมาจากความตั้งใจ และได้ผ่านขบวนการทางด้านศิลปะต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การวางรูปแบบ ความหมาย หน้าตา รูปลักษณ์ มีที่มา ที่ไป และอื่นๆ นั้น เช่น Logo ของสายการบินไทย ธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารกสิกร ธนาคารทหารไทย ฯลฯ ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดความเป็นมาในภายหลัง สาเหตุของความจำเป็นที่จะต้องมี สัญลักษณ์ หรือLogo นั้นเป็นการเน้นดึงเอาจุดเด่นของสิ่งนั้นๆ ออกมานำเสนอ อธิบาย ความหมาย ใคร (Who) อะไร (What) อย่างไร (How) และลึกลงไปถึงเมื่อไหร่ (When) สู่สาธารณชนให้รับรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
หลักการออกแบบสัญลักษณ์ หรือLogo นั้น เน้นความหมายของงานที่จะทำ แล้วหาสื่อมาเป็นตัวแทนอย่างเช่น ตัวอย่างของสายการบินไทย เป็นงานด้านการบริการนำพาผู้คน ในเรื่องของการคมนาคม และบริการด้านการขนส่ง เป็นหลัก การวางรูปแบบที่จะสื่อออกมา และทำเป็นสัญลักษณ์ หรือLogo นั้น ได้นำเอาความเป็นไทยมาเป็นโจทย์ก่อน “ทำไมเป็นรูปเจ้าหัวจำปี” นั่นนะสิ ทำไมไม่เป็นช้าง วัด โบสถ์ คนยกมือไหว้ มังคุด มะม่วง บ้านทรงไทย แม่น้ำเจ้าพระยา มะละกอ ฯลฯ เป็นต้น สรุปแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ทางผู้ออกแบบเขาคิดไว้หมด แต่สุดท้ายมาสรุปเป็น “เจ้าหัวจำปี” และได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบมาถึง 3 ครั้ง โดยนำเอารูปแบบความเป็นไทยมาจาก ศิลปะไทยแต่โบราณ คือ หัวชฎา เหมือนดั่งที่เห็นในรูป โดยได้นำเอาหัวชฎา หรือหัวโขนนำมาดัดแปลง แล้วจับเป็นรูปนอน
สำหรับธนาคารกรุงเทพฯ รูปแบบ (Concept) มาจากใบโพธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องของการลงทุน ด้านการเงิน การลงทุนก็เหมือนการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะต้นโพธิ์ ต้นไทรพอเติบใหญ่ก็จะเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร สร้างความร่มเย็น แล้วผู้ออกแบบก็นำเอาใบโพธิ์มาปรับปรุงเป็นLogo เหมือนที่เห็นในรูป และตัวอย่างสุดท้าย คือธนาคารกสิกรไทย เป็นการเน้นว่า ธนาคารฯ ให้บริการกลุ่มเป้าหมายคือ ชาวนา ชาวไร่มาก่อน และมุ่งไปทางภาคการเกษตร จึงนำเอารวงข้าวออกมาเป็นสื่อ แล้วปรับปรุงเป็น Logo และตัวอย่างสุดท้าย คือ ธนาคารทหารไทยจะมองเห็นได้ชัดเจนคือ การนำเอาธงชาติไทยออกมาเป็นสื่อให้เห็น ดูจากรูปการวางรูปแบบ (Concept) หรือวางสื่อ จะนำเอาธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่ตัวอักษรก็สามารถนำมาประยุกต์ ปรับใช้ได้ แล้วนำเอาทฤษฎี และหลักการทางด้านศิลปะเข้าไปประกอบ