ชื่อที่สะดุดหูจะทำให้คนจดจำสินค้าของเราได้ง่ายขึ้น และยังเพิ่มโอกาสในการทำตลาดได้ง่าย การเลือกคำเพียงคำเดียวจากจำนวนคำมากมายก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าจะได้ชื่อที่ลงตัว แต่หากลองใช้หลักพื้นฐานเหล่านี้ การคิดชื่อเรื่องก็อาจจะง่ายขึ้นก็เป็นได้
ติดหู - เลือกใช้คำเรียบง่ายแต่ตรงประเด็นและดึงดูดความสนใจจากผู้ฟัง หรืออาจเป็นคำที่ใช้กันบ่อยๆ แต่ไม่เคยมีใครนำมาเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งคำลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้ฟังจำสินค้าของเราได้ง่ายขึ้น
เช่น Smirnoff (สเมอร์นอฟ) เสียงฟังดูเพราะจริง แต่สร้างความสับสนได้ว่าจะออกเสียง สเมียร์นอฟหรือสไมร์นอฟ เมื่อเทียบกับ SPY คนจะจดจำและออกเสียงได้ติดปากมากกว่า
แฝงความหมาย - คำสั้นๆ เพียงไม่กี่พยางค์อาจสื่อความหมายและที่มาของบริษัทได้ ควรเลือกชื่อที่มีที่มาที่ไป เพราะทุกครั้งที่เราเล่าเรื่องราวนั้นออกมา มันจะเสริมส่งให้สินค้าดูดีมากยิ่งขึ้น
เช่น แบรนด์เสื้อผ้า patagonia ซึ่งเป็นเสื้อผ้าสำหรับปีนภูเขาหิมะ และปาตาโกเนียเองก็ยังหมายถึงเทือกเขาสูงที่มีสภาพอากาศหนาวสุดขั้วในประเทศอาร์เจนตินาอีกด้วย
เจ๋งและลึกซึ้ง - บางครั้งคำที่ดูธรรมดาๆ ไม่ได้สะดุดหูตั้งแต่ครั้งแรกได้ยินก็อาจเป็นต้นแบบชื่ออันโดดเด่นก็เป็นได้ ลองหากคำธรรมดามาดัดแปลง เราอาจค้นพบควาแปลกใหม่ วิธีง่ายๆ คือเริ่มจากคำที่ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ของผลิตภัณฑ์หรือบริษัท อย่างเช่น google ซึ่งมีที่มาจากคำว่า googol หมายถึง จำนวนที่ 1 ตามด้วย 0 อีกร้อยตัว โดย google นำคำนี้มาสื่อถึงการพัฒนาบริการร้อยแปดตั้งแต่อีเมลไปได้จนถึงระบบปฏิบัติการเลยทีเดียว
หมิ่นเหม่ แต่ก็เก๋ไก๋ - การใช้คำแปลกๆ หรือคำที่มีความหมายที่ค่อนไปทางด้านลบ แต่นำมาพูดถึงในทางบวกบางครั้งก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องระวังอย่าเลือกคำหยาบคายหรือกระทบต่อความอ่อนไหวของสังคม การเมือง และศาสนาจนเกินไป
เช่น บริษัทการตลาดแห่งหนึ่งที่ใช้ชื่อ บริษัท 18 มงกุฎ จำกัด ซึ่งทำให้ผู้ฟังจำชื่อเราได้แม่นขึ้น แถมยังดูมีชั้นเชิงกว่าบริษัทคู่แข่งเป็นเหนๆ แต่หากมีเหตุผลและเป้าหมายในการเลือกใช้ที่ชัดเจนพอ
แปลกและแตกต่าง - ควรเน้นให้แตกต่างเพื่อเพิ่มความโดดเด่นและเตะตา ไม่ว่าจะเป็นความต่างทางด้านการออกเสียง ความหมาย หรือแหวกแนวจากคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจนั้นๆ ตัวอย่างเช่น โรงแรมส่วนใหญ่มักตั้งชื่อด้วยนามสกุลของผู้ก่อตั้ง แต่หากเราเปิดโรงแรมบูติกเก๋ๆ สักแห่ง การใช้นามสกุลก็คงไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก
เช่น บูติกที่เชียงใหม่ ชื่อ บ้านหน้อย...นอนม่วน ก็ถือเป็นไอเดียที่ไม่เลวนัก แถมยังดูอบอุ่นเป็นกันเองอีกด้วย
ไม่จำกัดกรอบความคิด - เราควรเลือกคำที่มีความหมายกว้างๆ หรือมีความหมายมากกว่าหนึ่งอย่างเผื่อการขยายธุรกิจไปยังสินค้าและบริการด้านอื่นๆ ในอนาคต เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องกลับมาตั้งต้นเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่การคิดชื่อหรือทำการตลาด เราสามารถต่อยอดธุรกิจได้ทันที แถมชื่อเสียงของสินค้าตัวเดิมยังเสริมส่งให้สินค้าตัวใหม่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
เช่น vergin ซึ่งเมื่อขยายธุรกิจไปยังบริการอื่นๆ ก็ใช้วิธีขยายขอบเขตของชื่อออกไป นอกจากจะดูเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ง่ายแล้ว ยังสามารถสื่อถึงความเข้มแข็งของแบรนด์ด้วยความหมายของคำหลัก (จริง) ไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้โดยง่ายอีกด้วย
การคิดชื่อให้ออกมาดีถือเป็นการทำตลาดอย่างหนึ่ง ดังนั้นควรพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะหากชื่อไม่ติดตลาดหรือชื่อไม่เหมาะสมแล้วละก็ วิธีเดียวที่จะเปลี่ยนชื่อได้ก็คือ เริ่มทำทุกขั้นตอนใหม่ตั้งแต่ต้น
Cr. http://incquity.com/